วัฒนธรรมประเพณี ของ หมู่บ้านฝาย (จังหวัดอุตรดิตถ์)

ชาวหมู่บ้านฝาย ส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธเถรวาท มีวัดประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง คือ วัดศรีสะอาดโพธิ์ชัย ซึ่งกิจกรรมทางวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมส่วนใหญ่จะจัดขึ้นในวัด และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อในชุมชน

ประเพณีบุญข้าวเปลือก

ประเพณีบุญข้าวเปลือกบ้านฝาย จะจัดขึ้นตรงกับวันที่ 31 ธันวาคม – 1 มกราคมของทุกปี คือ จะจัดงานฉลองบุญข้าวเปลือกไปพร้อมกับการฉลองวันขึ้นปีใหม่ไปพร้อมกัน เพราะส่วนใหญ่ช่วงเทศกาลลูกหลานที่ไปทำงานที่ไกลๆจะกลับมาเที่ยวบ้านในช่วงนี้ ประเพณีบุญข้าวเปลือกเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งของชาวนาที่ว่า เมื่อชาวนาทำการเก็บเกี่ยวข้าวใส่ยุ้งจนหมดทุกครัวเรือนแล้วเราจะต้องมีการทำบุญข้าวเปลือก เพราะข้าวเปลือกเป็นบุญข้าวพุทธบูชา จะทำให้ได้ข้าวและผลผลิตทางเกษตรได้ดี อุดมสมบูรณ์ ไม่อดอยากอยู่เย็นเป็นสุข ในการจัดงานบุญข้าวเปลือกนั้นชาวบ้านจะร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาและตกแต่งวัดให้ดูสวยงามตามประเพณี ต่อจากนั้นก็มีการนำข้าวเปลือก - ข้าวสาร ปัจจัย ตามกำลังศรัทธาของชาวบ้าน นำมาร่วมทำบุญกัน วันรุ่งขึ้นซึ่งจะตรงกับวันพระก็จะมีการทำบุญตักบาตรตอนเช้า พอสายๆทางคณะกรรมการหมู่บ้านก็จะมีการทำการจำหน่ายข้าวเปลือกและข้าวสารให้กับคนที่ไม่ได้ทำนาต้องการที่จะซื้อข้าวเปลือกในราคาถูกตามมติของคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งรายได้ทั้งหมดจะนำไปถวายให้กับทางวัด ก็เท่ากับเป็นการถวายปัจจัยจากความสามัคคีของชาวบ้านด้วยเป็นอันว่าเสร็จสิ้นงานทำบุญข้าวเปลือก[1]

ประเพณีสงกรานต์-แห่ต้นดอกไม้

ประเพณีสงกรานต์ของชุมชนบ้านฝาย จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน หลังเที่ยงคืนชาวบ้านที่มีปืนแก๊ปจะยิงปืนเพื่อเป็นการต้อนรับวัน ปีใหม่ไทย ชาวบ้านจะสังขาลล่วง โดยเชื่อว่าพระยาสังขาลจะลงมา ชาวบ้านจึงยิงปืนต้อนรับ

เช้าวันที่ 13 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ คือวันสงกรานต์ ตอนเช้าจะมีการทำบุญตักบาตรกันที่วัด แล้วมีการทำบุญปล่อยนก ปล่อยปลา ปล่อยเต่า ถือว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้ออกจากตัวเรา สัตว์เหล่านั้นก็จะได้เป็นอิสระ ตอนกลางวันก็จะเป็นการสรงน้ำพระ เรียกว่าเอาพระลง บางกลุ่มก็อาจจะพากันออกไปเที่ยวในที่ต่างๆบ้าง บางกลุ่มอาจมีการสังสรรค์ หรือเล่นน้ำสงกรานต์กัน

เช้าวันที่ 14 เมษายน ชาวบ้านเรียกว่าวันเนา ( มื้อเน่า มื้อเหม็น) ทุกคนจะอยู่ที่บ้านกันหมด จะไม่ออกไปเที่ยวนอกบ้าน จะมีการสังสรรค์ระหว่างเพื่อนฝูง สังสรรค์ครอบครัว เพราะว่าวันนี้นอกจากจะเป็นวันสงกรานต์แล้วยังเป็นวันครอบครัว เป็นวันสำคัญวันหนึ่งด้วย ลูกหลานที่ไปทำงานที่อื่นๆ ก็จะพากันกลับมาช่วงวันสำคัญต่างๆ

เช้าวันที่ 15 เมษายน ชาวบ้านจะเรียกวันนี้ว่า วันพระยาวัน จะมีการรดน้ำดำหัวให้พ่อ แม่ ผู้ที่เคารพนับถือ แต่ตามประเพณีหมู่บ้านเราจะทำการสรงน้ำเจ้าปู่ตาก่อนที่บ้านฝายก็จะสรงน้ำเจ้าพ่อ พระยาปาด สรงน้ำพระคู่บ้านคู่เมือง รดน้ำผู้สูงอายุ จะทำพร้อมกันในวันนี้ ตอนกลางคืนก็จะมีการแห่ต้นดอกไม้ ไปถวายพระพุทธรูปใหญ่ที่วัด ตอนกลางวันที่เราจะเอาพระพุทธเจ้าขึ้น เราก็มีการแห่ ต้นพานเอาไปถวายพระภิกษุสงฆ์แล้วก็ก่อเจดีย์พระทราย ตอนเช้าก็ทำบุญใส่บาตรกัน ตอนกลางวัน เวลา 12.00 น. หรือเที่ยงวัน ก็มีการสรงน้ำพระภิกษุสงฆ์และพระพุทธรูปในวัดแล้วทำการสู่ขวัญให้พระภิกษุสงฆ์ในวัดแล้วนั้นคือเป็นการเสร็จสิ้นประเพณีสงกรานต์ของบ้านฝาย[1]


ประเพณีเลี้ยงลง (เจ้าพ่อพระยาปาด)

ในฤดูก่อนที่ชาวนาจะเอาข้าวลงน้ำ (หว่านกล้า) ต้องมีการเลี้ยงบ้านก็คือ เลี้ยงปูตา ( เลี้ยงเจ้าพ่อพระยาปาด ) เรียกว่าเลี้ยงลง การเลี้ยงลงมีอยู่ 2 อย่าง คือ เลี้ยงหมูไป 2 ปี คือ 4 ครั้ง แล้วก็มาเลี้ยงควาย 1 ครั้ง เรียกว่า 2 ปี หาม 3 ปี คอบ 1 ปี มีการเลี้ยง 2 ครั้ง คือ เลี้ยงลง และเลี้ยงขึ้น พอถึงช่วงชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวจากนาขึ้นยุ้งสาง (เล้า ) ครบทุกครัวเรือนในหมู่บ้าน[1]

ประเพณีเลี้ยงบ้าน (เจ้าพ่อพระยาปาด)

วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ:

การจัดเลี้ยงเจ้าพ่อพระยาปาด (เลี้ยงบ้าน) เดือน 6 วันเลี้ยงชาวบ้านทุกครัวเรือนจะมีข้าวเหนียวสุกไป คนละ 1 แอบ (กระติ๊บ) พร้อมขัน 5 คือโชย 5 อัน การเลี้ยงจะต้องมีภาข้าว ( ภาข้าว คือ ถาดทรงกลม ) ภาข้าว 4 ภา มีเหล้าขาว 4 ขวด มีไก่ผู้แดงตุ้มตีน 1 ตัว น้ำเต็มเต๊าะ ข้าวเต็มแอบภาเสื้อภาผ้า เงินฮ้อยขี้ผึ้งเปี่ยง 1 ชิ้น พอจัดสำหรับเรียบร้อยแล้วข้าวจ้ำ ( ผู้ดูแลและเป็นคนกล่าว ) ก็กล่าวคำอันเชิญท่านเจ้าพ่อพระยาปาดและบริวาลของท่านลงมาจับ มาเหวย กินตรู่ กินสู้กันเสีย[1]

ประเพณีบุญกกโพธิ์เก้าง่า

วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ:

ทำบุญศาลากลางบ้าน (ทำบุญกกโพธิ์เก้าง่า) หลังเลี้ยงบ้านเดือน 6 เสร็จ ก็จะมีการทำบุญกกโพธิ์เก้าง่า คือ ทำบุญศาลากลาง บูชาเทวดาด้วยเครื่องร้อยทั้งนั้น ได้แก่ ช่อร้อยไม้ ร่มร้อยไม้ ธงร้อยไม้ เสกกษัตริย์ร้อยไม้ คำหมากร้อยคำ คำมวนยาร้อยมวน กระจอกใส่อาหารคาวหวานร้อยกระจอก และก่อกองเจดีย์ทราย 1 กอง แล้วนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาสวดมนต์เย็น 3 คืน พร้อมทั้งตักบาตรตอนเช้า 3 เช้า เช้าวันที่ 3 จะมีการฆ่าหมูเพื่อบวงทรวงเทวดาและเลี้ยงเจ้าแม่กกโพธิ์ เก้าง่า แล้วก็เย็บธงชาววา 2 ผืน เพื่อบูชาเทวดาที่รักษาหมู่บ้านให้อยู่ดีมีสุข แล้วนำธงไปแขวนไว้ที่หัวบ้าน ท้ายบ้าน ของหมู่บ้านก็เป็นอันเสร็จพิธี[1]

บุญเข้าพรรษา-แห่ข้าวพันก้อน

เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตอนเช้าจะมีการทำบุญใส่บาตรที่วัด ในช่วงเข้าพรรษา จะมีการทำบุญใส่บาตรทุกวันพระ ฟังพระเทศน์ เมื่อสมัยแต่ก่อนโน้นตอนกลางคืน 15 ค่ำ จะมีการไปอยู่ที่วัดเพื่อแห่ข้าวพันก้อน คือ เอาข้าวเหนียวนึ่งสุกแล้วมาปั้นเป็นก้อนใส่ภาข้าวให้ถึงพันก้อนแล้วแห่รอบหมู่บ้านกันพอถึงตี 4 ตี 5 ของเช้าวันรุ่งขึ้นก็เอาข้าวพันก้อนใส่บาตรรับศีลรับพร[1]

บุญออกพรรษา-ฉลองต้นพาน

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ในตอนเย็นวันขึ้น 14 ค่ำ จะมีการทำต้นพานเข้าไปที่วัด ตอนเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ จะมีการทำบุญใส่บาตร ฟังพระเทศน์ฉลองต้นพานแล้วรับพรเป็นอันเสร็จพิธี หลังจากออกพรรษาได้ประมาณ 10 วัน ก็จะเริ่มมีการทอดผ้ากฐิน การทอดองค์กัณกฐิน โบราณบอกว่าห้ามให้เกินวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ถ้าเกินจะทอดไม่ได้ การทอดผ้ากฐินจะทำได้ปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น การทอดผ้าป่าสามารถทำได้หลายครั้ง[1]

วันลอยกระทง

วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ:

เป็นวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 การลอยกระทงเชื่อกันว่าเป็นการขอขมาพระแม่คงคา ซึ่งชาวบ้านฝายจะมีพิธีกรรมเช่นเดียวกับชาวไทยทั่วไป แต่มีคาถาวันลอยกระทง (ฉบับบ้านฝาย จ.อุตรดิตถ์) ซึ่งกล่าวบูชาลอยพระพุทธบาท ซึ่งตั้งอยู่ริมหาดทรายฝั่งแม่น้ำยมนานที เมืองโยนก และขอขมาแม่พระคงคา


แหล่งที่มา

WikiPedia: หมู่บ้านฝาย (จังหวัดอุตรดิตถ์) http://maps.google.com/maps?ll=17.737137,100.69613... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=17.7371... http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://tools.wikimedia.de/~magnus/geo/geohack.php?... http://www.globalguide.org?lat=17.737137&long=100.... http://www.wikimapia.org/maps?ll=17.737137,100.696... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%...